คุยกับปอร์ ในวาระ 12 ปีกับร้าน กาแฟคนรักษ์สวน

จากอดีตผู้จัดการร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดชื่อดังแห่งหนึ่งที่มีความฝันอยากเปิดร้านกาแฟเป็นของตัวเองที่บ้านเกิด จังหวัดราชบุรี หลังจากที่อิ่มตัวกับงานประจำมา 3 ปี ในที่สุด มัลลิกา ฉลาดการณ์ (ปอร์) ก็ตัดสินใจกลับมาเริ่มต้นธุรกิจร้านกาแฟเล็กๆ ของตัวเองภายใต้ร่มเงาของธุรกิจร้านต้นไม้ของพ่อ เพียงแค่ต้องการมีไว้บริการให้ลูกค้าร้านต้นไม้ได้มีที่พักกินกาแฟระหว่างรอซื้อต้นไม้ พริบตาเดียวผ่านไป 12 ปีจากร้านกาแฟเล็กๆ ได้ขยายเป็นอาคารขนาดใหญ่ ปรับบรรยากาศให้ดูทันสมัยที่มีความเป็นคาเฟ่ยุคใหม่มากขึ้น เราเลยชวนปอร์มานั่งย้อนอดีตสู่ปัจจุบัน รวมถึงการบอกเล่าถึงทิศทางใหม่ๆ ของร้านในอนาคตกัน
ก่อนอื่นเลยอยากทราบว่า กิจวัตรประจำวันของปอร์ในช่วงนี้มีอะไรบ้าง
ตื่นเช้าพาลูกอาบน้ำไปโรงเรียนค่ะ ส่วนคนเล็กอยู่บ้าน (มีลูกชาย 2 คน) ไปส่งเขาประมาณสัก 7 โมง พอส่งเสร็จอะไรเรียบร้อย เตรียมซื้อของเข้าร้าน ทั้งของสดของแห้ง กลับมาที่ร้านประมาณ 7 โมงครึ่ง ดูว่าที่ร้านมีอะไรขาดเหลือมั้ย แต่หลักๆ นี่ปอร์จะมาเช็คกาแฟก่อนเลยว่า ช็อตกาแฟหรือว่ารสชาติกาแฟเราเหมือนเดิมไหมมีอะไรผิดปกติไหม รีเช็คทั้งเครื่องชง ครัวขนม ครัวคาว 3 พาร์ทที่ร้านเรามี ดูบริเวณทั่วไปของร้าน ส่วนระหว่างวันตอนนี้ก็อยู่ร้านเยอะหน่อย เป็นทั้งบาริสต้าเอง ดูขนม ดูของคาวเอง ก็ทั้งวันเลยจนถึงหกโมงเย็นปิดร้าน เสร็จก็เข้าบ้าน เย็นๆ ก็จะเป็นเวลาครอบครัว ประมาณ 3 ทุ่มก็ส่งเด็กๆ เข้านอน ชีวิตประจำวันก็จะประมาณนี้ค่ะ

แล้วในวัยเด็กของปอร์เรามีความฝันว่าอยากทำอะไร
ถ้าจะจริงจังก็ช่วง ม.ปลาย ปอร์เป็นคนชอบอ่านหนังสือการ์ตูนทุกชนิด แล้วก็ฝันว่าอยากมีร้านเช่าหนังสือการ์ตูน แล้วก็มีร้านเครื่องดื่ม ตอนนั้นกาแฟสดคืออะไรเราไม่รู้จัก เรารู้แค่ว่ากาแฟแบบนี้ มันมีอยู่ในปั๊มน้ำมัน มันมีอยู่ตามทางที่เราขับรถไปกับครอบครัวอะไรเงี้ย มันมีอยู่ช่วงชีวิตหนึ่งที่พี่สาวปอร์ไปเรียนอยู่ที่เชียงใหม่ แล้วก็ขับรถกันไปช่วงระหว่างทางก็จะได้เจอร้านกาแฟสด สมัยก่อนก็จะมีร้านกาแฟเด่นชัย แถวๆ ลำปาง มันก็จะมีกาแฟเป็นกระปุกเป็นเชลฟ์มุงจากอะไรประมาณนี้ นั่นแหละเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรารู้จักกาแฟ คือน้าชายเราเขาจะสอนให้เรารู้ว่ากินกาแฟเป็นยังไง คอยบอกว่าแต่ละตัวเป็นยังไง ตอนนั้นน่าจะเรียนอยู่ประมาณ ม.1-ม.2 มั้งที่เริ่มมีความคิดแล้วว่า เออ…ร้านกาแฟมันเท่ดีนะ ถ้าเรามีร้านหนังสือด้วยมีร้านกาแฟด้วยมันน่าจะดี
จนมาช่วงมหาวิทยาลัย เราได้ไปนั่งอ่านหนังสือตามร้านกาแฟ ก็เริ่มรู้สึกว่า ร้านกาแฟมันมีเสน่ห์ ก็ชอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บอกตัวเองว่า วันหนึ่งต้องมีร้านกาแฟ
ก็คือเริ่มคิดเรื่องทำร้านมาตั้งแต่ ม.1
ใช่ คือตอนนั้นเราอยากมีร้านเช่าหนังสือการ์ตูน เพราะเวลาไปเช่าหนังสือการ์ตูนมาแล้วเรารู้สึกว่ามันเก่า เราเป็นคนที่ชอบซื้อหนังสือ 2 ชุด อ่านเล่มนึง เก็บเล่มนึง แล้วจะมีความรู้สึกว่า ถ้าคนอ่านได้มีหนังสือที่อ่านสวยๆ หอมๆ เขาน่าจะมีความสุข จนมาช่วงมหาวิทยาลัย เราได้ไปนั่งอ่านหนังสือตามร้านกาแฟ ก็เริ่มรู้สึกว่า ร้านกาแฟมันมีเสน่ห์ ก็ชอบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา บอกตัวเองว่า วันหนึ่งต้องมีร้านกาแฟ อีกอย่างปอร์ก็เป็นคนชอบทำอาหาร ทำขนมตั้งแต่เด็กๆ แล้ว ชอบเปิดดูรายการสอนทำอาหาร แล้วก็ทำตาม
แล้วหลังจากเรียนจบแล้ว คุณได้เดินตามฝันเรื่องทำร้านกาแฟของคุณทันทีเลยมั้ย
ปอร์ไปทำงานก่อน 3 ปี ไปเป็นลูกจ้างเขาก่อน ตอนนั้นก็เริ่มรู้สึกว่า ชีวิตเรามันอยู่ในกรอบไม่ได้ เรามันพวกแหกกฎ
ตอนนั้นทำงานเกี่ยวกับอะไร
เป็นผู้จัดการร้านเชสเตอร์ กริลล์ เป็นร้านแฟรนไชส์ อยู่ที่นครชัยศรี ก็ของพี่สาวเราเองนี่แหละ แต่ตอนนั้นมันก็ดีอยู่อย่างคือ มันสอนให้เราบริหารร้านเป็น บริหารงานทั้งหน้าร้านหลังร้าน ซึ่งเป็นงานที่หนักมาก พอผ่านตรงนั้นมาทำร้านกาแฟตัวเองนี่ถือว่า จิ๊บๆ เลย คือตอนนั้นทำมา 3 ปี เราเริ่มไม่สนุกแล้ว เพราะต้องตื่นตั้งแต่ตี 5 กว่าจะกลับบ้านก็เที่ยงคืน เดินทางไปกลับราชบุรี-นครชัยศรี ทุกวันมันเหนื่อยมาก แล้วงานอาหารร้านฟาสต์ฟู้ดมันค่อนข้างหนัก ก็เลยคิดว่า ไม่เอาแล้ว พอล่ะ กลับมาบ้านดีกว่า ก็กลับมาสานฝันตัวเองคือ อยากเปิดร้านกาแฟ ในขณะที่บ้านปอร์เขาจะทำงานด้านรับจัดสวนมาก่อน
เริ่มต้นเลยก็คือ เปิดเป็นร้านกาแฟให้ลูกค้าที่มาคุยเรื่องต้นไม้กับคุณพ่อ มีที่นั่งมีเครื่องดื่มเย็นๆ ทาน เริ่มวันแรกเลยก็คือ 12 สิงหาคม 2551 ตอนแรกก็คิดหนักเลยว่า จะตั้งชื่อร้านอะไรดี แนวๆ มีคำว่า coffee มีคำว่า tree ส่วนใหญ่จะเป็นภาษาอังกฤษ สุดท้ายก็คิดว่า ชื่อคนรักษ์สวน ที่พ่อใช้มาแต่แรกมันเป็นรู้จัก และคุ้นหูอยู่แล้ว ก็เลยเอาเป็นชื่อ กาแฟคนรักษ์สวนนี่แหละ อย่างน้อยเขาจะได้รู้ว่า ร้านนี้เป็นลูกใคร แรกๆ คนก็งงเหมือนกันว่า คนรักษ์สวนมาเกี่ยวอะไรกับกาแฟ เราก็คอยบอกว่า มาจากอะไร มีที่มาที่ไปยังไง มันมีสตอรี่ของมัน
12 ปีที่ผ่านมาของร้านกาแฟคนรักษ์สวน ถ้าให้ลองแบ่งไทม์ไลน์ของการเปลี่ยนแปลงเป็นช่วงๆ จะเห็นความเปลี่ยนแปลงยังไงบ้าง
ยุคแรกจะเป็นร้านเล็กๆ ขนาด 2.5 x 3 เมตร มีเครื่องชงกาแฟตัวหนึ่งขนาดพอบริการให้ลูกค้าได้ มีเครื่องดื่มอื่นๆ มีขนมบ้าง บางวันก็เปิด บางวันถ้ามีงานจัดสวนเราก็ปิด แต่พอเราเปิดไปเรื่อยๆ อาจจะเป็นด้วยรสชาติของกาแฟที่ใหม่สำหรับลูกค้าเมื่อ 12 ปีที่แล้ว มันแปลก มันหอม คนกินแล้วก็เริ่มติดใจ ปีแรกเรายังเปิดๆ ปิดๆ แต่เข้าปีที่สอง เริ่มมีลูกค้ามากขึ้น ประกอบกับใกล้สถานที่ท่องเที่ยวด้วย ก็เลยได้ลูกค้าที่เป็นนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ตอนหลังก็เลยเปิดทุกวัน
หลังจากผ่านไป 3 ปีแรก พอลูกค้าเริ่มเยอะขึ้น สถานที่เริ่มคับแคบก็ต้องขยับขยาย ก็มาสู่เฟสที่ 2 ขยายร้าน แล้วก็เปลี่ยนเครื่องชงเป็นระดับไฮเอนด์ ตอนนั้นปอร์มีสตางค์อยู่ในกระเป๋าประมาณแสนกว่าบาท อยากได้เครื่องชงใหม่สักตัวแต่ตังค์ไม่พอ ไม่กล้าขอตังค์แม่ เพราะเราขอมาแล้ว 3 แสนแรกตอนเริ่ม ขอมาแล้วไม่คืนด้วย (หัวเราะ) ก็คิดว่า เอาไงดี พอดีมีรถอยู่คันนึง รถแจ๊สก็ขายรถเลยเพื่อมาซื้อเครื่องชง สมัยนั้นใครๆ ก็ว่า ปอร์บ้า
ช่วงเฟส 2 เรายังขยายสาขาไปที่สวนผึ้งด้วย ก็ทำสองที่ควบคู่กันไป ก็ทำอยู่แบบนี้ 4 ปี ด้วยความที่ตรงนั้นไม่ใช่ที่ของเรา ประกอบกับมันอยู่ห่างกันต้องวิ่งไปมา ก็เริ่มรู้สึกว่า เราจะไปได้ไม่สุดกับสักที่ ก็เลยเลือกที่จะหยุดสักหนึ่งที่ แล้วก็ทำที่นี่ให้เต็มที่
ก็อยู่ตรงเฟส 2 มาอีก 7 ปี เราก็เริ่มคิดแล้วว่า เทรนด์ของกาแฟเริ่มเปลี่ยนเราอยู่กับมันมา 10 ปี ทุกอย่างตอนนี้มันเปลี่ยนไปหมดเลย ทั้งวิธีการชง เสิร์ฟ หรือตัวบาริสต้าเอง ก็เลยคิดว่าเอาไงดี ก็เลยกลายเป็นโปรเจกต์ว่า จะทำร้านเพิ่มอีกร้าน ทำให้มันใหญ่กว่าเดิม แล้วสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่า นี่คือคาเฟ่จริง ๆ ไม่ใช่ร้านกาแฟข้างทาง หรือแค่แวะเฉยๆ เราต้องทำให้ของเราเป็นที่ที่คนต้องมา ทำยังไงก็ได้ วิธีการไหนก็ได้
ก็เลยคิดออกแบบร้านใหม่ ไปดูหลายๆ ที่ แล้วมาปรับให้เป็นตัวตนเรา ใช้เวลาอยู่ประมาณสัก 3 ปี ให้เหมือนอยู่ในบ้าน อยู่ในสวน สบายๆ ให้มันสมชื่อคนรักษ์สวน ต้นไม้เยอะๆ ก็เลยกลายเป็นอาคารทรงนี้มา เน้นโล่งโปร่ง หายใจสะดวก นั่งในร้านสามารถเห็นบาริสต้าชงกาแฟ ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมซึ่งกันละกัน เพราะเมื่อก่อนของปอร์คือ สั่งแล้วเดินออกไม่เห็นเลยว่า เมนูอะไรทำยังไงบ้าง ให้บรรยากาศมันเป็นคาเฟ่มากขึ้น แล้วก็เพิ่มในส่วนของอาหารคาว คือเมื่อก่อนก็พอมีแต่เหมือนแค่ appitizer ทานเล่นๆ แต่ตอนนี้ เริ่มเป็นอาหารจานเดียว เพื่อที่ให้กลุ่มลูกค้าหลักๆ ของเราซึ่งเป็นกลุ่มครอบครัว สมมติว่าครอบครัวหนึ่งมากัน 5-7 ท่าน ทานกาแฟอาจจะแค่ 3 ท่าน ที่เหลือทานน้ำอื่นๆ ทานขนม แต่บางทีเขาอาจจะอยากมาที่เดียวแล้วจบเลย ก็เลยต้องมีอาหารเข้ามา แต่ก็ยังเป็นอาหารแนวคาเฟ่ กินง่ายๆ หน้าตาให้ดูแตกต่าง

12 ปีที่ผ่านมา มีช่วงท้อแท้บ้างมั้ย
ก็มี แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่เรารัก มันทำได้ตลอด แต่มันจะมีแบบว่า บางช่วงที่เรารู้สึกเหนื่อยจังเลย ทำอะไรออกมา แล้วลูกค้าไม่ค่อยตอบรับ บางทีเราทำอะไรใส่ลงไปเต็มที่ แต่ผลตอบรับที่กลับมามีน้อย บางทีอาจจะเป็นที่ภาพลักษณ์ของเราอาจจะยังไม่ได้สุดทางขนาดที่เขารู้สึกว่า ร้านเรามัน Special ก็มีบ้าง แต่ในอีกทางมันก็ทำให้เราคิดหาคำตอบต่อไปว่า แล้วจะทำยังไงล่ะให้เขาตอบรับเรา ลองหันกลับมาคิดซิ แล้วลองดูว่า เราทำเพิ่มเติมได้มั้ย เปลี่ยนตัวเองได้มั้ย เพื่อที่จะให้ลูกค้า 100% รับเราได้ซัก 80% แค่นี้ปอร์แฮปปี้แล้ว มันก็เลยทำให้ปอร์เนี่ยต้องสร้างไม่หยุดเลย เพราะลูกค้าที่เดินเข้ามานี่เองเป็นคนบอกเราว่า เราขาดอะไร เรามีอะไร อะไรดีแล้ว อะไรยังขาด ท้อแต่ไม่ถอย พอรักไปแล้วก็หยุดทำไม่ได้ พ่อปอเคยสอนว่า คนที่หยุดคือคนที่ตายแล้ว ช่วงนี้ก็เลยตังค์น้อยเลย
ในปีที่ 12 ของร้านยุคใหม่ เรามีอะไรที่อยากจะสื่อสารไปถึงลูกค้าบ้าง
ตอนนี้วางโพสิชั่นร้านใหม่ ปีนี้ปอร์วางตัวเองว่า ให้อยู่ในเรื่องของการคั่วด้วย จะมาเสริมให้ร้านเราดูแข็งแกร่งมากขึ้น เติมเต็มและครบวงจร ก็เลยปรับเปลี่ยนโลโก้จากเดิมที่เราชินตากับป้ายสีเขียวๆ สี่เหลี่ยม แต่ตอนนี้เราอยากปรับให้มันดูเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ยกระดับจากที่เป็นโลคัลแบรนด์ให้ขยับขึ้นไปกว่าเดิม เข้าถึงได้ทุกกลุ่ม เห็นแล้วไม่ล้าสมัย แต่ก็ไม่ดูหวือหวาจนเกินไปนัก เราปรับจากโลโก้สีเขียวที่เป็นเหมือนป้ายทางหลวง ปรับมาเป็นโลโก้ KRS ถ้าเป็นภาษาคาราโอเกะก็คือ Kon Rak Suan แต่ในแต่ละตัวมันจะมีความหมายของมัน อย่าง K ก็มาจากคำว่า คนรักษ์สวน แล้วก็หมายถึง Kaffe ในภาษาเยอรมันหมายถึง คาเฟ่ ตัว R ก็คือ Roastery หมายถึงการคั่ว ส่วน S ก็คือ Simply หมายถึงความเรียบง่าย ซึ่งเราเป็นแบบนั้นมาโดยตลอด
คือร้านอาจจะยกระดับขึ้นมาแต่ก็ยังเข้าถึงได้ง่ายเหมือนเดิม เพราะลูกค้าเดิมๆ ก็คือ นักปั่นจักรยานแวะมาซื้อ นักขับมอเตอร์ไซค์แวะมาซื้อ ณ วันนี้ ร้านใหญ่ขึ้น ลูกค้ากลุ่มนี้ก็ยังเดินกลับเข้ามาได้โดยไม่รู้สึกเคอะเขิน เราอยู่ต่างจังหวัดมันก็จะมีกลุ่มที่เป็นชาวบ้านคนท้องถิ่น เขาก็ยังแวะมาซื้อโดยไม่ได้รู้สึกว่า เราแพงจนเกินไป ในราคา 60-70 บาทก็ยังมีความรู้สึกว่าคุ้มจัง กับบางคนที่บอกว่าถูกเกินไปเปล่า หรือบางคนอาจจะบอกว่า แพงเกินไปมั้ย มันมีทุกแบบ แต่ถ้าประมาณ 70-80% รับเราได้ เราแฮปปี้แล้ว

ตอนนี้ลูกค้าหลักๆ เป็นกลุ่มไหนบ้าง
ถ้าจันทร์ถึงศุกร์ ก็ยังเป็นลูกค้าในราชบุรีเป็นหลัก พอเราปรับโฉมใหม่กลับได้ลูกค้าที่รู้จักแต่ไม่เคยมาร้านเราเลยกลับมามากขึ้น คิดถึงเรามากขึ้น ส่วนเสาร์-อาทิตย์ ก็จะเป็นลูกค้าที่มาท่องเที่ยว แวะมาไหว้พระ (วัดหนองหอย) กับลูกค้าที่ตั้งใจมาหาเรา ด้วยความที่เราปรับโฉมใหม่ก็ช่วยให้ดึงดูดคนอยากมามากขึ้น
เปลี่ยนเรื่องบ้าง อยากรู้ว่ากาแฟแก้วโปรดของเจ้าของร้านกาแฟดังคืออะไร
กาแฟดำ อเมริกาโน่เย็น กับอีกตัวหนึ่งที่อยากกินให้คล้ายๆ กันก็คือ กาแฟดริป ด้วยความที่เราสร้างสรรค์รสชาติได้ด้วยมือเรา มันมีเสน่ห์ คือทั้งดริปทั้งเอสเพรสโซ่มันก็มีเสน่ห์กันคนละแบบ เพียงแต่ว่า วันนี้เราอยากกินอะไร เราอยู่ในมู้ดไหน แต่ถ้าเอาจริงๆ คือ ปอร์ก็ชอบกินกาแฟดำ มันเหมือนกับเราได้อยู่กับตัวตนมันจริงๆ แล้วก็ได้สนุกกับมัน วันนี้อาจจะได้เจอรสนี้ พรุ่งนี้หนักมือหน่อยเจออีกรสหนึ่ง วันนี้อยากกินเบาๆ เหมือนกินน้ำชา เราก็ชงอีกแบบหนึ่ง อันนี้คือเสน่ห์ของกาแฟที่สามารถให้รสชาติหลากหลาย

มีโทนที่ชอบเป็นพิเศษมั้ย
เมื่อก่อนตอนเปิดร้านใหม่ๆ ปอร์ชอบโทนเปรี้ยว ชอบกาแฟที่มี acidity สูง แต่มาในวันนี้เรามีความรู้สึกว่า acidity สูงมันกลายเป็นทำให้เราไม่เจอบางรส ช่วงนี้เลยชอบกินกาแฟเบลนด์ที่ผสมกันระหว่างกาแฟที่มี acidity สูง กับกาแฟที่เป็น Middle Tone มีถั่ว มีอะไรแถบๆ นี้ เวลากินแล้วมันจะเจออะไรมากกว่าแค่เปรี้ยว เจอถั่วบ้าง เจอความหวานบ้าง และก็ชอบกาแฟที่มีกลิ่นเอกลักษณ์เฉพาะตัว flowery หน่อยๆ ตามสไตล์ผู้หญิงเนอะ
สุดท้ายอยากให้ฝากคำแนะนำให้กับคนที่อยากจะเปิดร้านกาแฟ
เรียกว่า แชร์ประสบการณ์ให้ฟังแล้วกันเนอะ คนที่จะเปิดร้านกาแฟเนี่ย ไม่ใช่แค่ว่าทำร้านกาแฟสวยแล้วมันจะขายได้ กาแฟอร่อยอย่างเดียวแต่ร้านไม่ดีก็ไม่ได้ ไหนจะเรื่องราคา ไหนจะโปรดักต์ เอาหลักการตลาดง่ายๆ 4P เราเนี่ยแหละ ที่ดี ราคาดี โปรดักต์ดี ทุกอย่างทำให้มันเป็นองค์เดียวกัน กาแฟคุณต้องดีด้วย หมายความว่า เราใส่ใจในสิ่งที่เราจะทำให้ลูกค้าทาน ใช้ของดี ถามว่าจะไม่ได้ต้องนึกถึงต้นทุนเลยได้มั้ย ก็ไม่ได้ ก็ต้องให้มันสมเหตุสมผลกัน ราคาดีรสชาติก็ต้องดีด้วย สถานที่ให้น่านั่ง แล้วก็มีสินค้าหลากหลายให้ลูกค้าได้เลือก
หลักๆ เลยต้องทำด้วยใจ คือ passion มีได้ แต่มันต้องมีมาร์เก็ตติ้งที่ดีด้วย บางคนมีแต่มาร์เก็ตติ้ง แต่ไม่มีแรงจูงใจแรงบันดาลใจในการทำ เราจะเห็นเยอะแหละคือ ซื้อมาขายไป มันก็จะไม่ทำให้เกิดการซื้อซ้ำ ซึ่งการซื้อซ้ำมันไม่ได้อยู่ที่อร่อยอย่างเดียว มันก็อยู่คนขายกับคนซื้อด้วย เดินเข้ามาแล้วรู้สึกสบายใจ ปอร์ว่า นี่คือเสน่ห์ของร้านกาแฟ นั่งแล้วมีความรู้สึกว่าฉันไม่โดนไล่ นั่งแล้วมีความรู้สึกว่า ฉันจะทำงานของฉันไปได้ยาว นั่งกินกาแฟมองวิวรอบๆ อาหารตา อาหารใจ ก็ต้องมาพร้อมๆ กัน
เราจบการสนทนากันแต่เพียงเท่านี้ ก่อนที่ปอร์จะขอตัวไปดูแลลูกค้าต่อ ผมนั่งมองเธอเข้าไปทำหน้าที่บาริสต้าอยู่หลังบาร์อย่างขะมักเขม้น แล้วนึกย้อนไปในวันที่เคยมานั่งกินกาแฟที่ร้านเล็กๆ ของปอร์ในช่วงปีแรก วันเวลาผ่านไปเร็วอย่างไม่น่าเชื่อจากร้านเล็กๆ ในวันนั้นได้กลายมาเป็นคาเฟ่ใหญ่โตที่สวยงามในวันนี้ ไฟในการทำงานของเธอดูยังลุกโชติช่วงอยู่เสมอ ทั้งหมดนั้นมาจากความรักที่จะทำและไม่หยุดพัฒนาตัวเองตลอดมาของเธอ “ปอร์ กาแฟคนรักษ์สวน”
อ่านรีวิวร้านกาแฟคนรักษ์สวนเพิ่มเติมได้ที่ https://www.letscheckinmag.com/konruksuancafe-ratchaburi/